ขั้นตอนในการทำ CT Scan

การเตรียมตัว

ผู้ป่วยควรซักถามถึงข้อสงสัยที่มี อย่างสาเหตุ ความจำเป็น ความเสี่ยง และประโยชน์ที่ได้จากการตรวจด้วย CT Scan โดยก่อนทำ CT Scan ผู้ป่วยควรสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ที่ไม่มีส่วนประกอบของโลหะ เช่น ซิป เข็มขัด ถอดแว่นตา ฟันปลอม และไม่สวมใส่เครื่องประดับใด ๆ ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจต้องเปลี่ยนใส่ชุดที่ทางโรงพยาบาลจัดให้ เพื่อให้สะดวกต่อการฉายรังสีและการสร้างภาพ
สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการเอกซเรย์ช่องท้อง แพทย์อาจแนะนำให้งดอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนทำ CT Scan เพื่อไม่ให้รบกวนผลการตรวจ และให้ได้ภาพฉายที่ชัดเจน หรือแพทย์อาจให้รับประทานยาระบายก่อนการทำ CT Scan นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ การแพ้ยา ปัญหา และภาวะทางสุขภาพอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น
-กำลังตั้งครรภ์ หรือคาดว่าอาจตั้งครรภ์อยู่
-เป็นหอบหืด
-เป็นโรคเบาหวาน และกำลังใช้ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ซึ่งอาจต้องปรับเปลี่ยนการใช้ยา 1 วัน ก่อนทำ CT Scan
-มีปัญหาเกี่ยวกับไต
-ป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือมีภาวะหัวใจล้มเหลว
-เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัลติเพิล มัยอีโลมา (Multiple Myeloma)
-มีความวิตกกังวลเป็นอย่างมากก่อนทำ CT Scan
-เคยสวนแป้งแบเรียม (Barium Enema) เข้าทางทวารหนักแล้วทำการเอกซเรย์มาก่อนหน้าไม่เกิน 4 วัน เนื่องจากแบเรียมจะปรากฏบนฟิล์มเอกซเรย์ ทำให้เห็นภาพฉายได้ไม่ชัดเจน
-เคยมีประวัติการแพ้สารทึบรังสีที่ใช้ในการทำ CT Scan
ก่อนทำ CT Scan
ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจให้สารทึบรังสี (Contrast Material) เข้าไปในร่างกายเพื่อช่วยให้ภาพฉายในบริเวณต่าง ๆ ที่ต้องการตรวจเห็นได้ชัดเจนขึ้น โดยอาจใช้วิธีให้ผู้ป่วยดื่มสารทึบรังสีเข้าไป ฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่เส้นเลือด หรือสอดสารทึบรังสีเข้าสู่ลำไส้ผ่านทางทวารหนัก
หากผู้ป่วยมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก แพทย์อาจให้ยาระงับประสาทเพื่อคลายความกังวลก่อนการเอกซเรย์ โดยผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาดังกล่าวนี้ ต้องเตรียมการให้ญาติหรือบุคคลใกล้ชิดมารับกลับหลังจากเสร็จขั้นตอน เนื่องจากฤทธิ์ของยาจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถขับขี่ยานพาหนะได้ตามปกติ

การทำ CT Scan
เมื่อเริ่มทำ CT Scan ผู้ป่วยต้องนอนราบลงบนเตียงของเครื่องสแกน เตียงจะถูกเคลื่อนเข้าไปภายในเครื่อง ให้บริเวณที่ต้องการจะสแกนอยู่ตรงกับวงแหวนสแกน และเครื่องจะเริ่มทำการสแกนด้วยการหมุนเพื่อฉายรังสีเอกซเรย์ไปรอบ ๆ ตัวผู้ป่วย โดยที่เครื่องคอมพิวเตอร์จะฉายภาพที่ได้ออกมาเรื่อย ๆ ผู้ป่วยควรผ่อนคลายความกังวล นอนราบนิ่ง ๆ และหายใจตามปกติ ในบางกรณีผู้ป่วยอาจต้องหายใจเข้า หายใจออก หรือกลั้นหายใจตามคำสั่งแพทย์ เพื่อให้ภาพถ่ายรังสีออกมาชัดเจน โดยในระหว่างที่อยู่ในเครื่อง CT Scan ผู้ป่วยสามารถสื่อสารกับแพทย์และนักเทคนิคที่ดูแลการสแกนได้ผ่านอินเตอร์คอม (Intercom: เครื่องสื่อสารด้วยเสียง) และการสแกนจะสิ้นสุดลงภายในเวลาประมาณ 10-20 นาที

ผลการตรวจ CT Scan
หลังทำ CT Scan เสร็จ เครื่องคอมพิวเตอร์จะประมวลภาพออกมา รังสีแพทย์จะอ่านผลที่ได้และรายงานต่อแพทย์ผู้ดูแล ซึ่งแพทย์จะสรุปผลการตรวจและพูดคุยกับผู้ป่วยต่อไป ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ในการทราบผล

ตัวอย่างผลการตรวจด้วยวิธี CT Scan
ตรวจไม่พบผลผิดปกติ
-อวัยวะต่าง ๆ และเส้นเลือดมีรูปร่าง ขนาดปกติ และอยู่ในตำแหน่งปกติ
-เส้นเลือดไม่อุดตันหรือถูกปิดกั้น
-ไม่พบวัตถุหรือสิ่งแปลกปลอม
-ไม่พบเนื้อเยื่อที่มีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ
-ไม่พบการอักเสบหรือการติดเชื้อ
-ไม่มีเลือดออกหรือไม่มีของเหลวตกค้างสะสมภายในอวัยวะ

ตรวจพบผลผิดปกติ
-อวัยวะมีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไป
-อวัยวะเสียหายหรือติดเชื้อ
-มีถุงน้ำหรือฝีอยู่ภายในอวัยวะ
-มีวัตถุหรือสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในอวัยวะ
-มีนิ่วในไตหรือในถุงน้ำดี
-หลอดเลือดแดงโป่งพอง
-เส้นเลือดอุดตัน
-มีลิ่มเลือดอุดตันในปอด
-ลำไส้เล็กและท่อน้ำดีอุดตัน
-ต่อมน้ำเหลืองขยายใหญ่ขึ้น
-ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
-มีรอยแตกหักของกระดูก
-มีเนื้องอกหรือเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตผิดปกติในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ไต ต่อมหมวกไต ปอด กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ รังไข่ เป็นต้น

ราคาตรวจ CT Scan
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ CT Scan
บริการด้วยเครื่อง CT Scan 128 Slices